กพช.งัดมาตรการบังคับประหยัดไฟถ้า LNG ทะลุ 50 เหรียญฯต่อเนื่อง 14 วัน บังคับห้าง-ปั๊ม-โรงงาน-ป้ายโฆษณาจำกัดใช้ไฟ

เรื่องที่น่าสนใจ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานพิจารณาผลกระทบค่าไฟฟ้าราคาแพงจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทย ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีทั้งหมด 11 มาตรการ โดย 1 ในมาตรการคือ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมประหยัดพลังงาน และมีมติว่าหากราคาตลาดจร หรือ Spot LNG JKM สูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 14 วัน (Trigger point) ให้นำเสนอเป็นมาตรการภาคบังคับ ในเรื่องมาตรการบังคับประหยัดพลังงาน โดยภาครัฐจะออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งก่อนบังคับจะดูแนวโน้มเทรนด์ราคา และแจ้งเตือนล่วงหน้า ปัจจุบันราคา LNG อยู่ที่ประมาณ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู

สำหรับมาตรการขอความร่วมมือประหยัดในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่อาจจะกลายเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น.(เปิดเวลา 05.00-23.00 น.),การกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำและอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานอื่นๆที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ขณะที่มาตรการอื่นๆ เช่น การลดการใช้แอลเอ็นจี เมื่อราคาสูงกว่า 25 เหรียญต่อล้านบีทียู มาเป็นเชื้อเพลิงอื่นๆที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ 3 เดือนนี้ ลดการนำเข้าแอลเอ็นจีจาก 18 ลำเรือ เหลือ 8 ลำเรือ และหากราคาแอลเอ็นจีต่ำกว่านี้ให้ บมจ.ปตท. เร่งรัดนำเข้าแอลเอ็นจีมาสำรองไว้ในคลัง โดยมั่นใจว่าแนวทางที่บริหารจัดการนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรงวด 1/2566 (ม.ค.-เม.ย.) ราคาจะไม่สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบัน ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงทดแทน LNG ได้แก่ ทดแทนด้วยใช้น้ำมันดีเซลและมันเตา โดยใช้ดีเซลราว 200 ล้านลิตร ในราคาประมาณ 6 บาทต่อลิตร, จัดหาก๊าซในประเทศและแหล่งเจดีเอ ราว 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 ราว 555 กิกะวัตต์ชั่วโมง, รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 163 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอเพิ่มการจัดส่งน้ำมันดีเซลสำหรับโรงไฟฟ้า Glow EPEC GPG และ GUT และปรับแผนการนำเข้าน้ำมันเตา 0.5% ด้วยวิธี Ship to Ship สำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกง การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจาก สปป ลาว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 ราว 43 กิกะวัตต์ชั่วโมง, โครงการเทินหินบุน 9.6 กิกะวัตต์ชั่วโมง, การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า, การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม, การเจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ

“ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน เปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่าโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้ทันสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไป และเป็นผลดีต่อต้นทุนไฟฟ้าของประชาชน” นายกุลิศ กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 2554-2558 ให้ปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้กกพ. สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วย เป็นการชั่วคราว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดได้ทันทีในเดือน พ.ย.นี้ 0.5 สตางค์ต่อหน่วยนายกุลิศ กล่าวว่า กพช. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อส่งเสริมไฟฟ้าสะอาด และการค้าระหว่างประเทศที่กลไกตลาดโลกมีการบังคับใช้เรื่องพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ประกอบด้วย (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป (2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งการดำเนินการเน้นโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม